อาเติล, นิรัติกร แสงดี - Policy Designer
- People of Lamphun
- May 23, 2021
- 1 min read
อาเติล, นิรัติกร แสงดี, บ้านจามเทวี
นิยามของคำว่า “เป็นคนลำพูน” คืออะไร นิยามจากเกิดที่ลำพูนเท่านั้นรึเปล่า? ถ้าเขามาอยู่ที่นี่ แล้วรักที่นี่ รักคนที่นี่ เขามีความรู้บางอย่างและอยากทำประโยชน์ให้กับเมืองนี้ ถือว่าเขาเป็น “People of Lamphun” ได้รึเปล่า?

อาเติลเป็นคนลำปางที่เข้ามาทำงานด้านวิชาการร่วมกับเทศบาลเมืองลำพูน ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมือง และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีก่อน เขาเข้าใจเมืองลำพูนเป็นอย่างดี
นอกจากทำงานในฐานะ ‘Policy Designer’แล้ว เขายังทำวารสาร ‘Voice of Lamphum’ ตีพิมพ์ปีละ 2 ครั้ง เขาเล่าว่า “มันเป็นการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่บอกว่า เจ้าหน้าที่ของเทศบาล ทำอะไร ที่ไหนเท่านั้น แต่พยายามสร้าง Story Telling ให้เห็นการเชื่อมโยงว่า แต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ, ชุมชน, NGO, Social Enterprise, Start up หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ กำลังคิดหรือทำอะไรอยู่ อยากได้อะไร อินอะไร เราพยายาม merge ข้อมูลและสื่อสารแบบชี้ให้เห็นภาพรวมของการขับเคลื่อนเมือง”
“first Impression ของผมกับเมืองลำพูนเลยก็คือ เป็นเมือง slow life แรกๆรู้สึกเฉยๆ แต่พอมองไปแล้วรู้สึกว่า ละสายตาไม่ได้ มันมีเสน่ห์ของความเป็นเมืองเก่าที่ไม่ได้โตไวจนเกินไป ทำให้ยังรักษา speed ของสังคมที่ balance อยู่”
---------------------------------
“การพัฒนาเมืองจากต้นทุนและโอกาสที่เรามี มันอาจจะไม่ใช่การเริ่มต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มตัวขนาดนั้นก็ได้ แต่เราอาจจะเริ่มต้นด้วย community ด้วย knowledge ถ้ามองในมุมนโยบาย มันเริ่มจากมุมไหนก็ได้ ยกตัวอย่าง ลำปางก็โตแบบลำปาง น่านก็โตแบบน่าน แม่ฮ่องสอนก็โตแบบแม่ฮ่องสอน ค่อยๆโตขึ้นมาจากตัวเอง ลำพูนเองก็เช่นเดียวกัน”
“มีข้อกังวลเหมือนกันว่า คนลำพูนรักลำพูน เรารู้และภูมิใจว่าเรามีอะไรเป็นต้นทุน แต่พอพูดถึงปัจจุบันสู่อนาคต มีภาพออกมาเยอะมาก มีเป็นล้านไอเดียในมิติทางสังคมของตัวเอง เรายังขาดยุทธศาสตร์ที่จะพาภาพฝันเดินต่อไปอย่างมีเหตุผล อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ แล้วก็วัดผลได้จริงๆ”
“สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ ecosystem ของเมืองทั้งหมดก่อน ต้องสแกนทั้งเมือง ต้องเข้าใจทุกมิติว่ามันสัมพันธ์กันยังไง ถ้าได้เห็นข้อมูลชุดนี้แล้ว ทุกคนทุกกลุ่มก็จะเข้าใจว่า เราจะ support กันยังไงได้บ้าง ไม่ใช่แค่ “เพราะมันไม่ใช่ความคิดฉัน ฉันไม่เล่นด้วย” ถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็วนอยู่ที่เดิม จริงๆแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐเท่านั้นที่จะผูกขาดการทำงานพัฒนาเมือง อาจจะเป็นน้องโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งที่เห็นข้อมูลชุดนี้แล้ว มีไอเดียอยากทำนู่นทำนี่ เมืองกลายเป็น sandbox ที่ทุกคนมองเห็นโอกาส เราก็จะเดินไปข้างหน้า แม้ค่อนข้างยาก แต่จะสนุกมาก ”
#Inclusive ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง #Innovative ต้องมีอะไรใหม่ มีสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น #Progressive ทำแล้วต้องไปข้างหน้า
Comments