นภัสกาน ดีอำไพ ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น "ดูแล" แอพ ดูแลผู้สูงอายุ รางวัล Best Business Model
- People of Lamphun
- Apr 24
- 1 min read

นภัสกาน ดีอำไพ หรือ การ์ตูน เป็นนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนจักรคำคณาทรจังหวัดลำพูน อดีตประธานสภานักเรียนระดับจังหวัด ปัจจุบันศึกษาต่อในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอย้ายมาจากกรุงเทพฯ มาอยู่กับคุณยายที่ป่าซาง ลำพูน
การ์ตูนเริ่มต้นไอเดียธุรกิจของตัวเองเป็น แอพพลิเคชั่นชื่อ “ดูแล” แอพช่วยเตือนข้อมูลยาผู้สูงอายุและ Persona Matching ระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแล ไอเดียนวัตกรรมเริ่มจาก Pain Point ในครอบครัว เป้าหมายต่อไปคือระดับชุมชน และได้รับรางวัล Best Business Model ในการแข่งขันเวทีนวัตกรรมทางการแพทย์ โครงการ Youth health hackathon 2024 จัดขึ้น ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความน่าประทับใจของแอพพลิเคชั่น "ดูแล" ของการ์ตูน ไม่ได้มีแต่การเป็นนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่ระหว่างทางของการพัฒนานวัตกรรมนี้ เกิดจาก ความอยากดูแลคนในครอบครัว ความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathy ของเยาวชนที่มีต่อผู้สูงอายุ คุณย่าคุณยายของตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับการเติบโตในโลกอนาคต
“จริง ๆแล้ว แอพพิลเคชั่นทำนองนี้ก็มีคนเคยทำบ้างแล้วค่ะ เช่นแอพการรับส่งผู้สูงอายุ แต่หนูเห็นว่าคุณยายของหนูเขาชอบถามว่า แล้วใครจะมารับเขา คนที่มาดูแลเป็นแบบไหน เป็นเพศอะไร อายุเท่าไหร่ หนูเห็น Pain Point ที่สำคัญมากๆเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุคือ “ความไว้ใจ” ค่ะ เราเลยแปลงมาเป็นไอเดียจับคู่ตัวผู้ดูแลของเราให้เข้ากับตัวผู้สูงอายุด้วย และส่วนนี้ก็จะใช้ AI ในการทำ Persona Matching”
“นอกจากนั้น ยังมี Feature บันทึกข้อมูลของการดูแล เวลาไปโรงพยาบาล คุณยายหนูเขาจำไม่ได้ทั้งหมด พบหมอแล้วจำไม่ได้ว่าคุณหมอให้ทำอะไรบ้าง ให้ยาอะไร กินยังไง แอพของหนูมีบันทึกคำแนะนำของแพทย์ และการใช้ยาว่า ได้ตัวยาอะไรมาบ้าง วันที่เท่าไหร่ ยาต้องกินเวลาไหน มีสรรพคุณเท่าไหร่ เรา Record ไว้ในแอปให้ ไว้หน้าแอปเลยค่ะ(ยิ้ม)”
“แผนธุรกิจหนูปรึกษาคุณพ่อซึ่งทำงานเกี่ยวกับธุรกิจอยู่แล้วค่ะ ถ้าสงสัยอะไรก็ถามเขา แผนการเงินของหนูวางไว้ 5 ปีค่ะ หนูรู้สึกว่าการลงทุนทำแอปควรทำให้ดีไปตั้งแต่แรกเลย จึงมีแผนลงทุนแอปค่อนข้างสูงถึงหลักล้านเลยค่ะ นอกจากนั้นแผนกลยุทธ์ ปีแรกจะพัฒนาตัวแอพพลิเคชั่นนี้ให้ใช้ได้ดี ส่วนของปีที่ 2 และ 3 หนูแพลนว่า จะพ่วงแอพเข้ากับการบริการรถไฟฟ้าเพื่อการบริการที่สมบูรณ์ เพราะอย่างไร journey ของผู้สูงอายุ ต้นทางคือบ้าน ปลายทางโรงพยาบาล และกลับมาที่บ้านอีกที ในปีที่ 4 และ 5 อยากลงทุนกับบริษัทรถไฟฟ้าค่ะ”

ความภูมิใจของการ์ตูนคือ เธอใช้เวลาพัฒนาทำโครงการนี้ประมาณปี 1 และเอาเข้าแข่งขันในเวที Hackathon รายการต่างๆ อาศัยการคอมเมนต์ของคณะกรรมการช่วยพัฒนางาน เข้าแข่งมา 5 เวที พึ่งจะได้รางวัลเวทีของคณะแพทย์มช. เป็นเวทีแรก
“หนูเฟลหลายรอบอยู่เหมือนกันค่ะ เสียใจกับรอบแรกที่สุด เขาคอมเมนต์แรงว่า เราไม่มีทางทำได้ มาจากจังหวัดเล็กๆจะทำได้หรอ เพราะตอนแรกวางไว้ว่าจะเริ่มบริการจากลำพูน โดนติที่แรกเลยว่า ถ้าเราไปลงทุนที่ลำพูน เขาจะมีรายได้มาจ่ายเราหรอ ทำให้หนูไม่กล้าไปแข่งอีก แต่ด้วยความที่หนูคิดว่า เมืองเล็กยิ่งเป็นโอกาสดีที่จะทดลองและสร้างผลงาน หนูก็ไปหาแข่งเพิ่ม หนูมีไฟขึ้นมากับรอบสุดท้ายค่ะ หนูเจอโค๊ชที่ดี โค๊ชให้คำแนะนำดี หนูก็มีไฟแข่งขึ้น”
"ในอนาคตหนูอยากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หนูจะสะสมเงินให้มีเงินสูงๆอีกหน่อยค่ะเพื่อต่อยอดไอเดียในลำพูน และขยายมันในระดับชุมชนค่ะ"
Comments