จรูญ บุญสวน : ผมไม่ได้กำลังวาดดอกไม้ ผมกำลังวาดทิวทัศน์
- People of Lamphun
- Feb 25
- 1 min read
จรูญ บุญสวน นักศึกษาจิตรกรรมที่สอบตกในวิชาที่คนอื่นไม่ตก แล้วสอบผ่านในวิชาที่คนอื่นสอบตก จนอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ต้องกุมขมับ และเพื่อนรุ่นเดียวกับ อ.ถวัลย์ ดัชนี

อ.จรูญ เติบโตขึ้นในฐานะเด็กวัด ในจังหวัดสิงห์บุรี ถูกบ่มเพาะโดยพระอาจารย์และลิเก จนเติบโตขึ้น เรียนจบ ม.6 และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถูกก่อตั้งโดย อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาที่ม.ศิลปากร ความใฝ่ฝันสูงสุดของ นายจรูญ ณ เวลานั้นคือการได้เขียนฉากลิเก
เมื่อได้เข้าเรียนที่ ม.ศิลปากร นายจรูญจึงได้เข้าใจว่าการจะวาดรูปรูปหนึ่งได้ต้องเข้าใจอะไรบ้าง องค์ประกอบภาพ สี ลายเส้น สรีรศาสตร์ ทัศนีย์ภาพ หรือแม้กระทั้งประวัติศาสตร์ ฉากลิเกที่จินตนาการไว้ในหัวแตกกระจายออกมาเป็นศาสตร์ต่างๆ ที่เขาต้องเรียนรู้
ผลการเรียนของนายจรูญออกไปทางขึ้นสุดลงสุด วิชาไหนทำได้ดีอย่างการจัดองค์ประกอบและวิชาการใช้สีก็ดีแบบเด่นกว่าใครเพื่อน ส่วนวิชาไหนทำได้ไม่ดีก็สอบตกเกือบทุกครั้ง จนขนาดที่อาจารย์ที่มาสอบซ่อมให้ก็ยังไม่สามารถทำให้เขาสอบผ่านได้ หนำซ้ำชวนให้งงต่อไปอีก จน อ.ศิลป์ ต้องมาสอบแก้ตัวให้ด้วยตัวเอง อ.ศิลป์เดินมาตบไหล่แล้วบอกว่า “จรูญ นายไม่ต้องเขียน Figure, Portrait หรือ Nude แล้วนะ เพราะนายทำไม่สำเร็จสักที ไปทำ still life กับ Landscape แทนซะ” ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดนี้จะส่งอิทธิพลมายาวนานถึง 50 ปี
หลายคนตั้งคำถามกับภาพวาดของ อ.จรูญ ง่ายๆว่า ทำไมอาจารย์ชอบวาดดอกไม้ มันขายง่ายหรอ ? อาจารย์ขำให้กับคำถามนี้และไม่ได้แย้งใดๆ เพราะถือว่าผู้เสพย์ศิลป์มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์ได้ว่าเราเขียนภาพไปเพื่ออะไร แล้วจริงๆ ทำไมอาจารย์ชอบวาดดอกไม้ อาจารย์บอกว่า “ผมไม่ได้วาดดอกไม้ ผมวาดทิวทัศน์”
สีธรรมชาติของดอกไม้มันสดมันจึงเด่นที่สุด ในภาพมีทั้งบึงน้ำ ต้นไม้ เงาสะท้อน ถนน ดิน หญ้า ท้องฟ้า ทุกอย่างในภาพถูกจัดองค์ประกอบโดยเฉลี่ยให้มีความเสมอภาคกัน ดอกไม้ที่ถูกวาดก็เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศของทิวทัศน์
“จรูญ นายเขียน Landscape ได้ดีชิบหาย มันไม่ใช่ Landscape ที่ตาเห็นเลย มันเป็น Landscape ที่วิวตรงนั้นมันลอกนายมาด้วยซ้ำ คือนายไม่ได้เขียนจากที่นายเห็น แต่นายมองแล้ว เขียนขึ้นมาในแบบของนาย” รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยกล่าวกับ อ.จรูญ ไว้ ทั้งที่ตัว อ.จรูญ เองมักจะวาดภาพตามสิ่งที่เห็นเท่านั้นไม่สามารถคิดเองเออเองจินตนาการขึ้นมาเองได้ อาจจะมีก็แค่ขยับนิดขยับหน่อยให้ภาพมันสวย
ธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าก็ส่วนหนึ่ง ธรรมชาติของการมองธรรมชาติของอาจารย์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ทิวทัศน์ของ อ.จรูญ จึงแทบแยกไม่ออกว่า ธรรมชาติจริงๆ กับธรรมชาติของอาจารย์ มันต่างกันอย่างไร ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันไม่ต่างกันด้วยซ้ำไป
นึกแล้วก็อดจินตนาการไม่ได้ว่า หาก อ.จรูญ ได้เขียนฉากลิเกจริงๆ ฉากนั้นจะเป็นอย่างไร
เรื่องโดย หมึกจีน สุโภไควนิช
ภาพโดย ปณวัฒน์ เมืองมูล
คอนเทนต์โดย #ลองลำพูน #LongLamphun
Comments